ลูกบิดอูคูเลเล่แบบ Friction กับพัฒนาการของมัน
เช้านี้มีลูกค้าที่อุดหนุนอูคูเลเล่นำอูคูเลเล่ Kiwaya กลับมาให้ดู เพราะคุณครูสอนอูคูเลเล่บอกให้นำกลับมาซ่อม ปรากฏว่าอูคูเลเล่ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่คุณครูที่สอนอูคูเลเล่ ที่ผมคิดว่าสอนไปงั้นๆ ไม่ได้มีความรู้เรื่องแบรนด์ หรืออูคูเลเล่นัก ซึ่งผมคิดว่าควรหาความรู้เพิ่มเติมหากจะยึดอาชีพนี้ เพราะขึ้นชื่อว่า ครู ควรรู้เรื่องอูคูเลเล่ระดับเบื้องต้นพอที่จะไปสอนเขาจะดีกว่า อันตัวผมเองก็คลุกคลีในวงการอูคูเลเล่มาได้แค่ 8 ปี ยังรู้อะไรแบบงูๆ ปลาๆ อยู่ แต่พวกเรื่องเบสิคๆ นี่ผมศึกษามาหมด จากทุกสำนัก ทุกอาจารย์ที่เขาว่าดี แต่ครั้งนี้จะเอาเรื่อง ลูกบิด แบบ Friction มาเล่าแบบเล่าให้เพื่อนฟัง จะได้อร่อยตากันง่ายๆ ครับ
สำหรับหลายๆ คน คงคุ้นกับลูกบิดอูคูเลเล่แบบภาพข้างบนนี้ ซึ่งไม่ใช่แบบที่ผมจะมาคุยถึง ลูกบิดตั้งสายแบบนี้เรียกว่าแบบ Gear ซึ่งก็ตามชื่อ มันชื่อแบบนี้เพราะมันใช้ระบบเกียร์ มีฟันเฟืองมาช่วยให้ใช้งานง่าย หมุนตั้งเสียงได้ละเอียดกว่า ต่างจากแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Friction ที่เวลาหมุนทีจะหมุนตามจริง ที่บางทีหมุนแล้วเลยเสียงที่ต้องการไปซะงั้น ซึ่งจะพบลูกบิดแบบนี้ได้ในอูคูเลเล่วินเทจทั้งหลาย เพราะสมัยก่อนมีแต่แบบ Friction เท่านั้น ส่วนแบบ Gear นี้จะมาทีหลัง เรียกว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ว่าได้ เพราะใช้แล้วมันตั้งง่ายขึ้น และถ้าคุณภาพดี ก็จะมีความเสถียรกว่า ไม่ต้องตั้งกันบ่อยๆ เรียกว่าหากไปดูอูคูเลเล่ระดับเริ่มๆ ไปจนถึงกลางๆ ส่วนมากก็จะใช้แบบ Gear นี้กันหมด ซึ่งในระบบนี้ มันก็มีตั้งแต่แบบกากๆ ไปจนถึงแบบดีขั้นไฮเอนด์นะครับ
ภาพข้างบนซ้ายนี้คืออูคูเลเลาวินเทจของ Kamaka อายุเรียงกันจากซ้ายไปขวาประมาณ 90 60 และ 90 ปี เป็นของหายากและมีคุณค่ามาก ในภาพบนขวาคือเมื่อนำมาพลิกดูจะเห็นว่าระบบลูกบิดตั้งเสียงของเขา จะเป็นแบบ Friction แต่เป็นแบบโบราณมาก นั่นคือเอาไม้เหลาให้พอดีรู แล้วเสียบเข้าไปดื้อๆ เลย ถ้าเสียบแน่นสายก็ไม่เพี้ยน เมื่อไหร่ที่มันหลุดออกมาและหลวม เสียงก็จะเพี้ยนง่าย ต้องดันเข้าไปใหม่ นี่คือลูกบิดอูคูเลเล่แบบคลาสสิค ซึ่งภายหลังเขาพัฒนาขึ้นมาให้เป็นระบบเอาสกรูวยึด จะทำให้เพี้ยนช้ากว่า โดยนานๆ ที จะต้องนำสกรูวไดรเวอร์มาไขให้แน่น เพื่อทำให้เสียงไม่เพี้ยนง่าย ภาพล่างซ้าย จากซ้ายคือตัวดั้งเดิมที่ใช้ไม้ดันเข้าไป ต่อด้วยตัวที่มีการพัฒนาลูกบิดเป็นไขสกรูว และตามด้วยของเก่าที่มีการติดตั้งลูกบิดใหม่ในปี 60's เพื่อให้ตั้งสายง่ายขึ้น ไม่เพี้ยนบ่อยๆ ภาพล่างขวาคือลูกบิดแบบ friction ขันสกรูวที่นำมาเปลี่ยนแบบไม้ทิ่มๆ
ในยุคนี้ อูคูเลเล่สาวนมากจะไม่ได้มากับลูกบิดแบบ friction นัก แต่ก็มีสำนักผลิต ที่เป็นแนวอนุรักษ์นิยม ที่เชื่อว่าปู่ย่าตายายเล่นมาอย่างไร ทำไมเราจะเล่นแบบนั้นไม่ได้ จึงยังใช้ลูกบิดแบบดั้งเดิมอยู่ในบางรุ่น ในภาพคือ Kiwaya รุ่นยอดนิยม ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นของแบรนด์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น อายุเกือบ 100 ปีแล้ว รุ่นนี้เป็นอูคูเลเล่ที่เขาแนะนำให้มือใหม่ใช้กัน โดยในญี่ปุ่จะติดแบรนด์ Famous แทน จัดเป็นอูคูเลเล่ที่เล่นง่าย เสียงดี ตัวหนึ่งในระดับเอาจริงเลยทีเดียว แม้จะมีระบบ Gear ให้เลือกใช้ เขาก็เลือกติดตั้งลูกบิด Friction แบบดั้งเดิม เพื่อความคลาสสิค
ซึ่งหากใช้ไปสักพัก ก็ต้องมาไขสกรูวกันเพื่อทำให้มันแน่น เสียงก็จะไม่เพี้ยนง่ายครับ เป็นเรื่องปกติของอูคูเลเล่แบบนี้ บางท่านอาจแปลกใจว่าของดีทำไมใช้ระบบห่วย ผมก็ขอบอกเลยว่ามันไม่ใช่ระบบห่วย มันคือความคลาสสิคของ Friction ที่พอนานๆ สายยืดอยู่ตัวมันก็ไม่ค่อยเพี้ยนบ่อย ส่วนลูกบิดนั้น นานๆ ทีมันก็คลายตัว ต้องมาไขกันตลอด ซึ่งผมเองก็ใช้แบบนี้อยู่หลายตัวในระดับมืออาชีพ และไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอันใด
ข้างบนนี้คืออูคูเลเล่รุ่นยอดนิยมของ Kiwaya หันหลังให้เห็นลูกบิด Friction วางคู่กับ Ancestor's อูคูเลเล่ระดับ hi-end ของญี่ปุ่น ซึ่ง luthier ก็เลือกใช้แบบ friction ติดตั้งมาเพื่อความคลาสสิคเช่นกัน คือถ้าใครศึกษามาหนัก จะเห็นว่าอูคูเลเล่ในยุคก่อนๆ จะใช้แบบนี้กันหมด พอจะสร้างอูคูเลเล่สักตัว ก็จะผูกพันกับลูกบิดแบบ friction นี่ครับ เป็นความคลาสสิค ที่ฝังในใจคนอูคูเลเล่ที่ชื่นชมแบรนด์ดั้งเดิมอย่าง Martin หรือ Kamaka ครับ
แม้แต่อูคูเลเล่หลักแสนอย่าง Mitsuta ของญี่ปุ่น เขาก็ติดตั้งลูกบิดแบบ Friction มาให้
KoAloha แบรนด์ดังของฮาวาย ก็เลือกใช้ระบบนี้กับอูคูเลเล่ขนาด soprano ลืมบอกไปว่าลูกบิดแบบนี้จะนิยมใช้ในขนาด soprano ซึ่งเป็นขนาดดั้งเดิมของอูคูเลเล่ครับ จะมีบ้างที่ใช้ในตัวใหญ่ๆ ขึ้นมา เช่นกับ Kiwaya รุ่น top แต่ก็ไม่ค่อยเจอนักกับแบรนด์อื่นๆ
ในภาพคือ Naturel อูคูเลเล่ระดับ super hi-end ของญี่ปุ่น สำนักนี้เขาเลือกใช้ลูกบิดแบบทันสมัย นั่นคือแลดูเหมือนจะเป็น friction แต่มันมีระบบ gear อยู่ในนั้น เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขั้นต่อไปของลูกบิด friction ในเมื่อไม่ชอบแนว gear ที่ดูเหมือนหูกางๆ ยื่นออกมา ก็ต้องพัฒนาแบบทิ่มๆ ให้มีศักยภาพ และนี่คือคำตอบ ทว่าราคาลูกบิดนี้จะสูงกว่าปกติมาก จะไม่มีให้เห็นบนอูคูเลเล่เริ่มๆ ครับ
ในภาพคืออูคูเลเล่ Kamaka Soprano ปีไล่เลี่ยกัน ที่ทาง Kamaka เขาพัฒนากับเยอรมันจนได้ลูกบิดแนวคล้ายๆ ดั้งเดิมแต่ใช้น๊อตตัวเบ้งมายึก ทำให้สายเพี้ยนได้ยากมาก แต่มันก็ตั้งได้ยากมาก ดูจากตัวบนครับ จะเห็นว่าลูกบิดมันใหญ่ยักษ์จนเป็นเอกลักษณ์ของ Kamaka ไปเลย ก่อนที่จะเปลี่ยนแบบไปในเมื่อสองปีที่แล้ว ส่วนตัวล่างตอนแรกก็มากับลูกบิดใหญ่ๆ นั้น แต่เจ้าของนำมาเปลี่ยนเป็นลูกบิดที่เป็นพัฒนาการอีกขึ้นของแนวนี้ นั่นคือแลดูเหมือน friction แต่เป็นระบบ gear ตั้งง่าย เพี้ยนยาก คงทนนาน จนหลายๆ แบรนด์ที่ชอบอูคูเลเล่แบบอนุรักษ์นิยมเลือกใช้กัน ทว่าสนนราคาของลูกบิดแบบนี้แพงกว่าปกติมาก ตัวเริ่มๆ ตัวกลางๆ จึงไม่ค่อยได้ติดตั้งมา ส่วนตัวราคาสูงๆ ก็มักจะมากับลูกบิดแบบนี้ครับ
นี่ผมมีเวลาเขียนและถ่ายภาพมาลงภายในหนึ่งชั่วโมง จึงเล่าได้คร่าวๆ แค่นี้ ตกขาดบกพร่องอะไรขออภัยนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าน่าจะทำให้ได้มีความเข้าใจในลูกบิด อย่างน้อยก็ระดับเบสิคแบบผมขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อยครับ เจอกันอีกทีครั้งหน้าคร้าบบบ