Japan National Ukulele Contest 2017
นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่ผมได้รับเชิญไปเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินการแข่งขันอูคูเลเล่ชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งงานนี้จะจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยเขาจะค่อยๆ คัดเลือกกันระดับภูมิภาคก่อน แล้วมาจบที่การประกวดรอบไฟนอลนี้ที่ Ochanomizu โตเกียว ผมเองเป็นคนไทย และคนต่างชาติเพียงคนเดียวในคณะกรรมการ ซึ่งผมถือว่ามันเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับผมที่ได้มายืนบนเวทีนี้ในฐานะกรรมการอันสำคัญเยี่ยงนี้
สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลสำคัญของวงการอูคูเลเล่ ประกอบด้วยอาจารย์สอนอูคูเลเล่ผู้คร่ำหวอด ศิลปินอูคูเลเล่แนวหน้ารุ่นเก๋า และผู้จัดเทศกาลอูคูเลเล่ที่ใหญ่ที่สุด รวมทั้งมือเบสของวงดนตรี Southern All Star อันโด่งดังของญี่ปุ่น (ไม่ได้อยู่ในภาพ) และผมหนึ่งเดียวจากเมืองไทย อาจจะเห็นมีคนหน้าคล้ายชาวตะวันตก แต่นั่นคือคนญี่ปุ่นนะครับ เขาเกิดและโตที่ญี่ปุ่นพูดญี่ปุ่นปร๋อกว่าภาษาอังกฤษเสียอีกการที่ผมได้มามีส่วนร่วมในคณะตัดสินนี้ ผมรู้สึกเหลือตัวนิดเดียว แต่เปี่ยมไปด้วยความยินดีอันยิ่งใหญ่ ที่เขาเห็นค่าของเราพอที่จะมาอยู่ตรงนั้นได้
ตามสไตล์เรียบ ง่าย ขลัง แบบญี่ปุ่น แม้งานนี้จะยิ่งใหญ่แค่ไหน เขาก็ใช้ป้ายงานแค่ที่เห็นนี้ ป้ายหนึ่งอยู่หน้าอาคารที่จัดการประกวด อีกป้ายขึงอยู่บนเวที เรียบง่าย แต่ได้ใจความครบถ้วย และดูมีรสนิยม
การเดินทางครั้งนี้ ผมไม่ได้ไปเพียงผู้เดียว แต่ได้นำศิลปินจากเมืองไทยไปด้วย เพื่อไปแสดงปิดรายงานเขา ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูง โดยเราได้มอบหมายให้ โดนัท เป็นผู้ดูแลศิลปิน และ อภิรักษ์ และ โมเม เป็นตัวแทนศิลปินไทย ไปโชว์ความสามารถทั้งการเล่นแบบบรรเลง และการเล่นพร้อมร้อง การเดินทางครั้งนี้จะไม่สำเร็จได้ หากไม่ได้การสนับสนุนจากผู้ไม่ประสงค์จะออกนามจำนวนหนึ่ง คุณเฉินหลง คุณดีใจดี คุณจอม คุณเอส คุณป้าสมทรง คุณแม่นักเรียนอูคูเลเล่ที่คุมะบี และ The King Power ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี่ด้วยครับ นอกจากนี้เรายังมีคุณพ่อและคุณแม่ของน้องโมเม เดินทางมาให้กำลังใจน้องโมเมถึงขอบเวทีอีกด้วย ทำให้การเดินทางครั้งนี้คึกครื้นขึ้นมาก ต้องขอขอบคุณครับ จากนี้ผมอยากจะเล่าการประกวดทีละคนพอเป็นสังเขปให้ท่านที่สนใจ ได้อ่านเพื่อทราบว่าที่ญี่ปุ่นเขาประกวดกันอย่างไรนะครับ อ่านไปจะเหมือนได้ไปดูอยู่กับผม แต่ไม่ต้องนั่งยาวนาน 4-5 ชั่วโมง ผมสรุปมาให้เลย ภาพอาจจะแย่หน่อย เพราะผมไม่ได้ถ่ายเอง และคนถ่ายไม่ชำนาญการใช้กล้องที่ใช้นะครับ ขออภัย
สองพิธีกรของงาน Elli และ Daisy สองศิลปินอูคูเลเล่รุ่นใหญ่ นอกจากมาแสดงให้ชมแล้ว ยังมารับบทบาทพิธีกรสนุกๆ ให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายอีกด้วย
ผู้ประกวดรายแรก ประเดิมด้วย Loki Doki Rocking Band วงอูคูเลเล่ล้วน ที่สมาชิกทุกคนอายุเกิน 60 หมด พวกเขามานำเสนอบทเพลงแนวร็อคแอนโรล แบ่งพาร์ทกันเล่น ออกมาน่าฟังดีเหมือนกัน การประกวดที่ญี่ปุ่นไม่ได้แบ่งประเภท แต่จะให้ทุกประเภทมาเจอกันหมด แล้วเวลาให้รางวัล แต่ละรางวัลจะให้ตามคะแนนครับ
Mizuno Sorana เด็กหญิงผู้มาพร้อมเพลงบรรเลง ที่ผู้ใหญ่หลายคนยังเล่นไม่ได้ ถ้าให้เปรียบกับบ้านเรา เด็กอายุเท่านี้ ถ้ามาประกวด มักจะมาเล่นไปร้องไป ซึ่งใครๆ ที่ไม่ได้ประกวดก็ทำได้ อยู่ที่ว่ากล้ามาขึ้นเวทีไหม แต่ของเด็กหญิงคนนี้สิ่งที่เธอเล่น คือสิ่งที่วรเอามาเล่นเวลาประกวดจริงๆ และการประกวดครั้งนี้ นับเป้นก้าวแรกที่ดีของเธอ เพราะได้มาเล่นต่อหน้าผู้ชมราว 500 คนแบบนี้ ในงานที่คนดูแต่ละคนคือคนสำคัญในวงการทั้งสิ้น มันเจ๋งกว่าการไปเล่นต่อหน้าคนนับหมื่นที่ไม่ใช่ผู้ชี้ชะตาการเป็นศิลปินเสียอีก โอกาสเปิดตัวดีๆ แบบนี้หาไม่ได้อีกแล้วครับ
Katono หนุ่มใหญ่ผู้มากับการเล่นแนวสุขุมนุ่มลึก มาประกวดครั้งนี้ ถ้าไม่บอกว่านี่คือการประกวด ผมจะนึกว่ามันคือคอนเสิร์ตของศิลปินคนหนึ่ง เพราะเขาเดินขึ้นมาอย่างมั่นใจ พร้อมบรรเลงบทเพลงที่ซับซ้อน แต่ไม่ซ้ำใคร เพราะเป็นเพลงที่เขาแต่งเอง มันออกแนว minimal ที่แม้ไม่อาจขยับตามได้ แต่มันสะกดให้ผมฟังเขาจนจบโดยไม่ละสายตาและใบหูไปจากดนตรีที่เขาสร้างขึ้นมาเลย
Mako เด็กสาวที่เพิ่งเล่นอูคูเลเล่ได้ไม่นาน แต่กลับมีพรสวรรค์ดีทีเดียว วันนี้เธอมาพร้อมเพลงแจ๊ส Star Dust ของ Ohta San ซึ่งเล่นออกมาได้ดีทีเดียวเมื่อดูที่อายุของเธอ ผมเองจดไว้ในใบให้คะแนนว่าคนนี้น่าสนใจ เพราะศิลปินที่ผมผลักดันอย่าง อภิรักษ์ ก็เป็นคนที่เล่นเพลงแนวนี้เช่นกัน มีติดอย่างเดียว การเล่นของเธอฟังดีทุกอย่าง แต่หากเพิ่มความสวิงเข้าไปอีกนิดจะดีเยี่ยมไปเลย
Wakasugi Hajime มาพร้อมเพลง Sampo ของศิลปินรุ่นใหม่ Tomoki Sato เขาบรรเลงได้เหมือนต้นฉบับเลย แม้เพลงที่เขาเลือกก็ไม่ได้โชว์สกิลอะไรมากมาย ทว่ามันฟังเพลินดีจริงๆ เหมือนความหมายของชื่อเพลงว่า เดินเล่น นี่หละครับ
Yamato เด็กน้อยผู้มากความสามารถ มาพร้อมเพลง Ode to a Frozen Boot ของ James Hill เขาถ่ายทอดการเล่นออกมาได้แบบ James Hill ปรมาจารย์ด้านอูคูเลเล่เทคนิคแพรวพราวเลยครับ เพลงนี้ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่กล้าเล่น แต่นี่เด็กนิดเดียวเอามาเล่นประกวดบนเวที เป็นตัวอย่างที่ดีอีกราย สำหรับคนที่อยากมาประกวด เลือกเพลงโหดๆ แบบนี้มา แล้วเล่นให้ดี มีโอกาสูงที่กรรมการจะสนใจครับ
RenaMayu สองสาววัยรุ่น ที่ผมดูปุ๊บก็นึกถึงสองสาว Honoka & Azita ของฮาวายขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะท่วงท่าหรือความน่ารัก ซึ่งผมว่านี่คือดีงาม เพราะที่ญี่ปุ่นยังไม่เห็นมีแนวนี้ (เมืองไทยก็ด้วย) ผมคิดว่าพวกเธอจะเป็นสีสันให้วงการอูคูเลเล่ไปอีกยาวนานและชัดเจนมาก หากไม่เลิกเล่นเสียก่อน ผมเองดูยังชอบ และนี่คือตัวอย่างของการนำเสนออูคูเลเล่อีกรูปแบบ ที่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องมาเล่นกันไฟแล่บ แต่ออกมาแนวน่ารัก น่าดู บางทีมันน่าดูกว่าบรรดาฮีโร่ออกมาโชว์สกิลเสียอีกครับ และผมคิดว่าสองคนนี้มาไทยแน่ๆ ในอนาคต เพราะพ่อแม่ของเธอมาบอกผมไว้แล้วว่าอยากมามาก :)
Rikuya หนุ่มน้อยวัย 15 ปี ที่หากหลับตาฟังจะนึกว่าโปรมาเอง วันนั้นเขามาพร้อมเพลงแต่งเองชื่อ Sea of the Sunset ซึ่งเป็นเพลงที่เขาแต่งเอง ผมฟังครั้งแรกชอบเลย มันมีความ EDM อยู่ในอูคูเลเล่ มันคือสิ่ที่คนรุ่นใหม่สื่อออกมาผ่านเครื่องดนตรีเก่าๆ นี้ ซึ่งมันออกมาดีมาก จนผมรู้เลยว่าผมจะให้คนนี้ชนะการประกวดแน่ๆ
Ohana Band วงดนตรีวงนี้ ถ้าไม่ได้มาประกวดอูคูเลเล่ผมคงให้คะแนนเยอะไปแล้ว เพราะเขามาเล่นเพลง Under the Sea ได้ไพเราะและสนุกมาก ทว่ามันมีอูคูเลเล่อยู่เพียงสองตัวเท่านั้น และบทบาทไม่ได้เด่นเท่าไหร่ ยังไงก็ตามหากถามความน่าฟัง ผมให้คะแนนเขาเต็มแน่นอนครับ
Ai Yamaguchi สาวคนนี้ป่วยนอนโรงพยาบาลนานจนเล่นอูคูเลเล่เป็น เลยเล่นมาตลอด และตัดสินใจมาประกวดในครั้งนี้ด้วย ที่สำคัญเธอแต่งเพลงมาร้องเอง ซึ่งจริงๆ ผมล่ะชอบมากๆ เพราะแม้เธอจะมาร้องเล่น แต่เพลงที่เธอนำมาร้อง ในฐานะคนแต่งเพลงเหมือนกัน ผมเห็นความมีชั้นเชิงของเธอ เพราะแม้จะใช้คอร์ดง่ายๆ แต่พอเข้าท่อนฮุคเธอสอดแทรกคอร์ดที่ให้เสียงออกมาน่าฟังและคาดไม่ถึง เป็นเหมือนความพิเศษในความธรรมดา เป็นดั่งเซนแห่งอูคูเลเล่ ฝีมือของเธอคนนี้ผมชอบมากครับ ร้องเล่นเพลงป็อปแต่ไม่ได้ร้องเล่นธรรมดา หาฟังที่ไหนไม่ได้อีกต่างหาก แซ่บ
Ideguchi Masashi ผู้ประกวดคนนี้มาทุกครั้งที่ผมมาตัดสินสามครั้ง เขาเป็นคนชอบใช้เอฟเฟค และแน่นอนครั้งนี้เขาก็มาพร้อมอุปกรณ์เอฟเฟคเต็มมือ ทั้งเสียงแตก ทั้งลูป จัดมาเต็มหน้าตัก แต่ในความคิดของผม การประกวดอูคูเลเล่ควรเน้นที่อูคูเลเล่ มากกว่ามาเปิดแบ๊คกิ้งแทรคแล้วเล่นไปกับมัน ยังไงก็ตามคนนี้มีฝีมือครับ สามารถไปเป็นศิลปินแบบวันแมนโชว์ได้เลย ไม่ต้องประกวด
Keira หนึ่งเดียวของการประกวดที่ใช้ชื่อฮาวาย แถมยังเล่นเพลงฮาวายด้วย เพลงที่เธอเลือกมา Ku'u Papale Lauhala เป็นเพลงฮาวายที่ฟังง่ายและไพเราะ สาวฮูล่านิยมเต้นกับเพลงนี้นัก และเธอก็นำเสนอได้ดี โดยเฉพาะเทคนิคการสตรัมแบบฮาวายเอี้ยน ที่ไม่ได้เล่นกันแบบทั่วไป ทำให้แม้เพลงจะดูง่ายๆ แต่คนดูเป้นจะทราบเลยว่ามันต้องใช้สกิล และที่สำคัญการที่นำเพลงที่ใช้เต้นฮูล่ามาเล่นนี้ ยังจะทำให้คนจากแวดวงฮูล่ามาร่วมวงกับคนอูคูเลเล่ได้อีกด้วย แนวทางนี้จึงเป้นแนวที่น่าส่งเสริม นี่คือความคิดของผม
Kawai Michiko สาวใหญ่หนึ่งเดียวของการประกวด เธอมานั่งเล่นเพลง The Entertainer ได้น่าฟังดั่งต้นฉบับ มีความคล่องแคล่วเหมือนมืออาชีพ ผมคิดว่าหากเธอยืนเล่น มันจะดู entertain ขึ้นไปกว่าที่เป็นอีก นับเป็นผู้ใหญ่ที่ฝีไม้ลายมือดี ผมคิดว่าเธอคงเล่นอูคูเลเล่มาก่อนที่ผมจะเข้าวงการอูคูเลเ่เสียอีก
Kotaro หนุ่มคนนี้มาเล่นเพลง The Unknown ของ Kalei Gamiao ศิลปินที่ผมเป็นผู้จัดการอยู่พอดี ทำให้ผมเห็นเลยว่าเล่นไม่เหมือนไม่เหมือน แต่จริงๆ เล่นไม่เหมือนคือสิ่งที่ดี เพราะถือว่าผู้ประกวดได้เรียบเรียงเพลงขึ้นใหม่ ทว่าที่เขาเล่นคือพยายามเล่นให้เหมือนต้นฉบับแต่เล่นได้ไม่เนียนเท่า ผมคิดว่าเขาน่าจะแต่งเพลงตัวเองมาประกวดเลย จะได้ไม่ได้นำมาเปรียบเทียบกับเพลงต้นฉบับ ในกรณีมีคนที่คุ้นเคยเพลงต้นฉบับที่เขาเล่น จะได้ไม่โดนจับผิด
Mahiro สาวน้อยผู้มากับอูคูเลเล่ที่เห็นแล้วตะลึง เพราะเธอถือ Mitsuta อูคูเลเล่หายากของญี่ปุ่นมาประกวดเลยทีเดียว คนนี้มาพร้อมเพลงแต่งเอง และร้องได้ดีทีเดียว แถมเล่นมีชั้นเชิงอีกด้วย ผมดูแล้วเธอสามารถเติบโตเป็นศิลปินร้องเล่นได้เลยในอนาคต
Karyuto ดูโอผู้มาพร้อมแนว Flamingo และตบตี สองคนนี้ดูแล้วสนุก เพราะฝีมือดีแถมยังลีลาดีด้วย ตลอดการแสดงผมคอยดูว่าเขาจะออกท่ากันอย่างไร ทำให้ดูแล้วไม่เบื่อ ถ้านี่คือการประกวด Thailand Got Talent เขาได้ไปแล้ว
Rui หนุ่มญี่ปุ่นผู้ตั้งใจจริงจนย้ายไปอยู่ฮาวายเพื่อร่ำเรียนอูคูเลเล่ เขากลับมาประกวดที่ญี่ปุ่น จนเข้ารอบสุดท้าย ลีลาท่าเล่นเหมือนศิลปินฮาวายจริงๆ เขามาพร้อมเพลงที่แต่งขึ้นมาเองด้วย คนนี้ผมว่าน่าจับตามอง ในอนาคตเขาคงเป็นใครสักคนในวงการอูคูเลเล่แน่ๆ เลยผมว่า
เมื่อการแสดงบนเวทีจบ ก็ถึงคราวที่คณะกรรมการจะมาพิจารณาและถกเถียงกัน ว่าใครจะได้รางวัลอะไร ในขณะเดียวกันบนเวทีก็จะเป็นการแสดงของศิลปินต่างๆ ผมขอไม่กล่าวถึงขั้นตอนการตัดสิน เพราะมันเป็นความลับ เราเลยจะตัดไปที่เวทีก่อนครับ
การแสดงเริ่มด้วยสองพิธีกร Elli และ Daisy มาเล่นอูคูเลเล่ให้ฟังครับ
ต่อเนื่องด้วยศิลปิน Ninja Beat ที่นำเสนออูคูเลเล่แบบเล่นกับดีเจ และ Tomoki Suzuki แชมป์การแข่งขันครั้งที่แล้ว
ปิดท้ายด้วยการแสดงจากประเทศไทย ซึ่งผมได้ลงทั้งภาพที่ถ่ายตอนซาวด์เช็คโดยผมเอง และภาพที่ถ่ายขณะแสดงจริงโดยโดนัทให้ชมครับ การแสดงของเราเริ่มที่โมเมออกมาร้องเล่นสองเพลง ตามด้วยอภิรักษ์ของมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ Oh I Say กับเพลง Blueberry Sky ของเขาเอง ก่อนจะจบที่สองคนออกมาร่วมร้องเพลง Arigatou No Hana เป้นการขอบคุณผู้ชม ซึ่งการแสดงนี้เป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นมาก ดูได้จากการตบมือตามจังหวะ ที่หากเขาชอบจะพากันตบมือไปด้วยอย่างสนุกสนาน
จากนั้นเป็นการประกาศผลรางวัล โดยเขาแบ่งเป็นรางวัลดีเลิศ รางวัลเอ็นเตอร์เทนเนอร์ รางวัลเทคนิค รางวัลพิเศษจากกรรมการ2 รางวัล รางวัลไปฮาวาย และในส่วนของผม รางวัลอูคูเลเล่จากประเทศไทย และรางวับมาร่วมอูคูเลเล่เฟสติวัลที่เมืองไทย โดยผู้ที่ได้รับอูคูเลเล่ Rebel Custom ของไทย คือ Mahiru สาวร้องเล่นเสียงดี ส่วนผู้ที่ได้ไปประเทศไทยคือคนที่ผมชอบนักหนา Rikuya ครับ ส่วนรางวัลเอ็นเตอร์เทนเป็นของสองสาวดูโอ รางวัลเทคนิคเป็นของหนุ่มน้อน James Hill ส่วนรางวัลพิเศษสองรางวัลเป็นของพี่ที่เล่นแนวมินิมัลและน้องที่เล่นแนวฮาวาย ส่วนที่ไปได้ฮาวายคือผู้เข้าประกวดรายแรกที่อายุ 60 ขึ้นไปทุกคนครับ
และผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Rikuya หนุ่มน้อยวัย 15 ปี ที่มีอนาคตบนถนนสายอูคูเลเ่ทอดยาวไปอีกไกลคนนี้ ในภาพคือท่านประธาน Kyoko Hara กำลังอ่านใบประกาศก่อนจะมอบให้น้อง Rikuya ไป ผมคิดว่าวันนี้น้องแกน่าจะฟิน เพราะกวาดรางวัลไปถึงสองรางวัลด้วยกัน ผมเองก็ดีใจที่คนที่เลือกได้รางวัลไป จากนั้นเรามีงานเลี้ยงขอบคุณเล็กๆ ใกล้ๆ สถานที่จัด แต่ละคนผลัดกันหมุนเวียนกันกล่าวขอบคุณ จบจบด้วยการรวบมือตบจบงานตามแบบฉบับญี่ปุ่น ถือว่าจบไปอีกงาน แล้วผมจะมาอีกในอีกสองปีครับ Japan National Ukulele Contest